ออนไลน์ปลอดภัย

รู้จักกับ Gaslighting กระบวนการปั่นหัวที่เป็นพิษในทุกความสัมพันธ์

คำว่า Gaslighting มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight (1944) เป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการฮุบสมบัติภรรยาและ พยายามทำให้ภรรยาเข้าใจว่าตนเองเสียสติ ด้วยการแอบหรี่ไฟในตะเกียง เมื่อภรรยารู้สึกว่าไฟมืดลงและถามสามี เขากลับบอกว่าปกติดี จนภรรยาสับสนและคิดว่ามีเพียงตนเองเท่านั้นที่ผิดปกติ

Gaslighting เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการที่มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม เป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์แบบซ่อนเร้น โดยผู้กระทำทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจผิด รู้สึกไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในตนเอง หรืออาจถึงขั้นเข้าใจว่าไปว่าตนเองนั้นถึงขั้นเสียสติไปแล้ว

กระบวนการปั่นหัวนี้ จะใช้เวลานานจนผู้ถูกกระทำไม่ทันรู้สึกตัว และจะรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มีคุณค่าและอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพาผู้กระทำอยู่ตลอด ทำให้ไม่กล้าออกจากความสัมพันธ์นั้น
Gaslighting มีกระบวนการดังนี้

  •  โกหกหน้าตาย – การโกหกอย่างแนบเนียนและน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ถูกกระทำเริ่มไม่แน่ใจในตนเอง และสงสัยในความทรงจำของตนเองด้วย
  •  ทำลายชื่อเสียง – ผู้กระทำจะสร้างเรื่องแย่ ๆ เกี่ยวกับตัวเรา หรืออาจทำให้คนอื่นคิดว่าเรามีปัญหาทางอารมณ์กำลังจัดการกับปัญหานั้นอยู่
  • เบี่ยงเบนประเด็น – ผู้กระทำจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ถูกกระทำกำลังพูดหรือทำด้วยการเปลี่ยนเรื่องไปเรื่องอื่น ๆ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่สำคัญ
  •  ไม่เห็นค่าความรู้สึกนึกคิด – การละเลยความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ซึ่งรวมถึงการบอกว่าสิ่งที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกนั้นเป็นเรื่องคิดไปเอง ล้วนเป็นการทำให้ผู้ถูกกระทำไม่แน่ใจและลดความสำคัญของตนเองไปอีก
  • โยนความผิด – เมื่อใดที่ผู้กระทำปฏิบัติตัวไม่ดีต่อผู้ถูกกระทำ มักจะโยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำ และปฏิเสธความเลวร้ายของตัวเอง
  • คิดเรื่องราวขึ้นใหม่ –ผู้กระทำมักจะเล่าเรื่องราวในมุมของตนเอง หรือเรื่องราวที่สร้างขึ้นเองซ้ำ ๆ จนผู้ถูกกระทำเริ่มเชื่อว่าเรื่องราวนั้น ๆ เกิดขึ้นจริง
  • ใช้คำพูดล่อลวง เช่น ใช้คำว่ารักและไม่มีวันจะทำร้าย ทำให้เราเชื่อและยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้กระทำ

กระบวนการ Gaslighting เกิดขึ้นได้ทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ หากเราไม่แน่ใจว่าเรากำลังถูก Gaslighting หรือไม่ ลองสังเกตเตือนเหล่านี้ดู ไม่แน่ว่าเราอาจจะกำลังถูก Gaslighting โดยไม่ทันรู้ตัวก็ได้

  • เมื่อผู้กระทำทำสิ่งที่ไม่ดีกับเรา แต่เรากลับพยายามบอกตัวเองว่า สิ่งที่ผู้กระทำปฏิบัติต่อเรานั้นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย เราแค่เป็นคนอ่อนไหวจนเกินไป
  • เริ่มรู้สึกไม่แน่ใจในสิ่งที่คิด จนไม่กล้าจะพูดแสดงความคิดเห็นหรือแสดงอารมณ์ออกไป
  • รู้สึกอ่อนแอและไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ รวมถึงการขาดความภาคภูมิใจในตนเอง
  • รู้สึกโดดเดี่ยว คนรอบข้างมองว่าเราผิดปกติ จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร
  • รู้สึกว่าตนเองเป็นคนผิด ไม่เก่ง หรืออาจจะผิดปกติทางจิต
  • รู้สึกผิดหวังในตนเองและตัวตนที่เป็นอยู่ ทั้งที่เราเคยเป็นคนที่เข้มแข็งกว่านี้
  • รู้สึกกังวลว่าตนเองอ่อนไหวเกินไป
  • รู้สึกถูกคุกคามโดยผู้กระทำ
  • รู้สึกว่าจำเป็นต้องขอโทษตลอดเวลาสำหรับสิ่งที่คุณทำหรือตัวตนของคุณ
  • รู้สึกว่าตนเองไม่เคย “ดีพอ” เลย ทั้งที่พยายามแล้วก็
  • รู้สึกสงสัยในความทรงจำของตัวเอง
  • คิดว่าคนอื่นผิดหวังในตัวเรา
  • ไม่กล้าตัดสินใจเพราะไม่ไว้วางใจตัวเอง

หากเรายังไม่แน่ใจว่าเรากำลังถูก Gaslighting หรือไม่ ให้ลองเริ่มจดบันทึก เหตุการณ์ต่าง ๆ และเก็บข้อความการพูดคุยทั้งหลายไว้ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องเกิดขึ้นทางออนไลน์ ให้บันทึกทุกสิ่งไว้ และกลับมาประเมินความรู้สึกและความสัมพันธ์นั้น และเราอาจจะปรึกษาเพื่อน ครอบครัวหรือคนอื่น ๆ ที่เราไว้ใจ เพื่อให้ช่วยเหลือและประเมิน หากเราเริ่มรู้ตัวว่าเรากำลังถูกปั่นหัวอยู่ ควรออกมาจากความสัมพันธ์นั้น ด้วยการค่อย ๆ ห่างออกมากและสร้างขอบเขตของความสัมพันธ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการยุติความสัมพันธ์ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่อาจจะทำได้ยาก แต่เราต้องพยายาม เพราะการถูก Gaslighting นั้นจะส่งผลต่อกระทบโดยตรงถึงสภาพจิตใจและการเห็นคุณค่าในตนเองของเรา

และสุดท้าย ขอให้ทุกคนระลึกเสมอว่า เราล้วนมีคุณค่าในตนเอง อย่าให้ใครหรืออะไรมาบั่นทอนและลดคุณค่าของเราได้

 

แปลและเรียบเรียงมาจาก: https://www.verywellmind.com/is-someone-gaslighting-you-4147470

Previous article
โรงเรียนเทศบาล 1 กิตติขจร จ. ตาก ได้จัด โครงการเยาวชนสร้างสรรค์รู้เท่าทันภัยออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
Next article
ระหว่างวันที่ 8 - 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้จัดโครงการเยาวชนสร้างสรรค์รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 280 คน